12 ธันวาคม 2560
Highlight
“ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเป็นเจ้านายของตัวเอง” ประโยคข้างต้นดูเหมือนจะเป็นอะไรที่เราเคยได้ยินกันมาหลายยุคสมัย แต่ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าเราจะเป็นนายตัวเองที่ประสบความสำเร็จกันได้ง่าย ๆ ความไม่มั่นคงทั้งด้านเงินทุน การเติบโต และผลตอบแทน ก็อาจจะทำให้หลายคนรับมือกับความกดดันเหล่านี้ไม่ไหว จนขอเลือกชีวิตแบบมีการงานที่ดี เงินเดือนที่เหมาะสม และอยู่ในองค์กรที่มั่นคงจะดีกว่า
แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังคงกล้าเสี่ยงที่จะเดินหน้า และกลายมาเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าคนยุคใหม่ที่ไม่อยากเสียเวลาไปกับการเพิ่มฐานเงินเดือนไปทีละนิด แต่อยากจะเป็นคนกำหนดรายรับของตัวเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่เกิด Startup รายใหม่ขึ้นมากมายในช่วงหลายปีมานี้
Paul Graham กูรูด้านการลงทุนไอทีชื่อดัง เจ้าของบริษัท Y Combinator ที่ลงทุนใน Startup กว่า 400 ราย ได้ให้คำนิยามของ Startup ไว้ว่า “Startup คือบริษัทที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว”
ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอุตสาหกรรม เงินลงทุนมหาศาล หรือการเติบโตที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะถึงเป้าหมาย Startup อาศัยโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ เข้ามาแย่งชิงตลาดของธุรกิจเดิม หรือบางครั้งถึงขั้นเปิดตลาดแบบใหม่และทำลายล้างรูปแบบเดิมไปตลอดกาล ‘โมเดลธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือหัวใจหลักของ Startup’ และการเติบโตที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วนี่เอง ที่เป็นสิ่งดึงดูดให้ใคร ๆ ก็อยากลองเสี่ยงกับการทำธุรกิจชนิดนี้
ถ้าว่ากันตามคำนิยามของ Paul Graham แล้ว Startup ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้วยซ้ำ เพียงแค่โมเดลธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพก็เพียงพอแล้ว แต่ทำไมรูปแบบของ Startup มากมายที่ผุดขึ้นมาจึงทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสายเทคโนโลยีซะเยอะ เพราะมันคือ อาวุธ ของคนยุคใหม่ยังไงล่ะ
ดูจากบริษัทอย่าง Google Facebook Twitter Uber Alibaba ก็ล้วนเคยเป็น Startup มาก่อนทั้งนั้น โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งก็คืออินเทอเน็ตในยุคนั้น มาประกอบสร้างเป็นโมเดลธุรกิจจนที่เติบโตจนถึงระดับพันล้านเหรียญได้ แม้ว่าในตอนนั้นอินเทอเน็ตจะยังไม่เป็นที่นิยมขนาดนี้ก็ตาม ดังนั้นความเข้าใจต่อเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าต้องเชี่ยวชาญกว่าคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว) จึงถือเป็นข้อได้เปรียบ ที่สามารถนำมาใช้เจาะตลาดของผู้บริโภคที่แทบจะมีเทคโนโลยีเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต
ข้อมูลจาก Thai Venture Capital Association หรือสมาคม VC ไทย จากปี 2016 รายงานสถิติข้อมูลของผู้ Startups ในประเทศไทย พบว่ากลุ่มของผู้ก่อตั้งที่มีอายุ 26-29 ปี มีมากเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 30 % จากทั้งหมด โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากถึง 33.30% รองลงมาคือ Commerce 23.30% และ FinTech 17%
ที่น่าสนใจคือการที่จำนวนเงินลงทุนในแวดวง Startup ไทยนั้นสูงขึ้นทุก ๆ ปี แต่ Startup ส่วนใหญ่ยังคงเน้นวางแผนทำการตลาดอยู่ในประเทศไทยอย่างเดียวถึง 60% มีวางแผนทำธุรกิจกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 30% และประเทศอื่นๆนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียง 10% เท่านั้น
นี่จึงอาจเป็นช่องว่างใหญ่และโอกาสสำคัญที่เหล่า Startup หน้าใหม่ ๆ ไม่ควรมาเบียดกันแย่งส่วนแบ่งการตลาดอยู่แค่ภายในประเทศ แต่ควรจะคิดขยายให้ไกลออกไปถึงตลาดต่างประเทศกันได้แล้ว
ท่ามกลางความกดดันด้านการศึกษา และความคาดหวังของผู้เป็นพ่อแม่ การที่เด็ก ๆ จะลุกขึ้นมาทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นั่นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่มีต่อการทำธุรกิจแบบเก่าเท่านั้น และนี่คือตัวอย่างของเหล่าวัยรุ่นที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์กว่าพันล้านดอลลาร์ โดยที่ทั้งหมดนั้นเป็นเงินที่พวกเขาหามาด้วยความสามารถของตัวเอง
Patrick กับ John Collison คือพี่น้องชาวไอริช ผู้ร่วมก่อตั้ง Stripe บริษัทฟินเทคให้บริการด้านธุรกรรมการเงินทางอินเตอร์เน็ต เมื่อปี 2010 ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองของ PayPal โดยให้บริการอยู่กว่า 25 ประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนพัฒนาธุรกิจจากทั้ง Sequoia Capital และ Google พวกเขาดร็อปเรียนจากมหาวิทยาลัยกลางคันเพื่อมาบุกเบิกธุรกิจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะในวัยเพียงเท่านี้สองพี่น้องมีสินทรัพย์ในครอบครองอยู่ถึงคนละ 1,100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 37 พันล้านบาท)
ไม่พูดถึงคนนี้คงไม่ได้ เพราะเขาคือผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Snapchat ร่วมกับ Bobby Murphy วัย 28 ปี ทั้งสองเรียนด้วยกันที่ Stanford University และร่วมพัฒนาโซเชียลแอพสำหรับส่งข้อความ รูปภาพ วิดีโอ พร้อมมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้ จนเป็นที่นิยออย่างมากในกลุ่มคนวัย 18-34 ปี และมีผู้ใช้งานถึง 150 ล้านคนต่อวัน หลังจาก Snap เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2017 Evan Spiegel จึงกลายเป็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียนที่อายุน้อยที่สุด โดยสินทรัพย์ที่เขาครอบครองอยู่กว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 144 พันล้านบาท) ก็ทำให้เขาติดอันดับมหาเศรษฐีอายุไม่เกิน 40 ที่มีทรัพย์สินสูงที่สุดแห่งปี 2017 จากการจัดอันดับของ Forbes อีกด้วย
Nannies by Noa อาจจะไม่ใช่ Startup ที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุด แต่มันเป็นธุรกิจที่เกิดจากผู้ก่อตั้งอายุไม่ถึง 20 ปี และเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจระหว่างพี่เลี้ยงเด็กและครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ธุรกิจของเธอคือการเปิดบริษัทเอเจนซี่ในรูปแบบเว็บไซต์จัดหาพี่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวใน New York City และ Hamptons โดยเป็นสื่อกลางในการสอบถามความต้องการของลูกค้าและจัดหาพี่เลี้ยงที่เหมาะสมให้กับลูกของพวกเขา ปัจจุบัน Nannies by Noa มีทีมงานทั้งแบบเต็มเวลาและพาร์ทไทม์ดูแลลูกค้าอยู่กว่า 190 ครอบครัว ทำให้ Noa Mintz มีรายได้กว่า 300,000 ดอลล่าร์ต่อปี (10.8 ล้านบาท)
สำหรับบ้านเราเองก็ไม่น้อยหน้า หลายปีที่ผ่านมามี Start ups หน้าใหม่ๆ เปิดตัวขึ้นมาอย่างล้นหลาม และนี่คือตัวอย่างของ Startups ฝีมือคนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียทางธุรกิจน่าสนใจ และน่าจับตามองต่อไปในอนาคต
https://www.marketingoops.com/wp-content/uploads/2016/09/6-20.jpg
สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ที่ให้บริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงขั้นตอนการขนส่งไว้ในระบบเดียว ในยุคที่ใครๆ ก็หันมาซื้อของออนไลน์ แค่กดสั่ง จ่ายเงิน จากนั้นก็รอของมาส่งที่บ้าน ทำให้มีสินค้าในระบบขนส่งแต่วันละวันเพิ่มขึ้นมาก SHIPPOP จึงเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ sme พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือใครก็ตามที่ต้องการส่งของ สามารถจองขนส่งออนไลน์ เปรียบเทียบราคา สร้างใบปะหน้า และติดตามพัสดุได้ในระบบเดียว เขาเรียนจบด้าน IT และมีประสบการณ์การดูแลเว็บไซต์มามากมาย ทั้งยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ในวงการ Startup มาไม่น้อย ก่อนจะมาเป็นเจ้าของ www.shippop.com ในที่สุด
หลังจากเปิดให้บริการมากว่า 1 ปีครึ่ง บริษัทสามารถเติบโตจากจุดเริ่มต้นที่มีลูกค้าใช้บริการขนส่งสินค้าเฉลี่ย 3,000 ชิ้น/เดือน มาเป็นกว่า 1 แสนชิ้น/เดือน และกำลังจะขยายตลาดออกสู่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย
https://scontent.fbkk1-6.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/13900083_1294017027275298_1603097468834145938_n.jpg?_nc_fx=fbkk1-6&oh=1fdcbe98bcf506b0eb4ca7206eb0d95f&oe=5A9591FF
อานันท์ และ อภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง AIRPORTELs ธุรกิจบริการขนส่งและรับฝากกระเป๋าเดินทาง ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการขนส่งสัมภาระจากสนามบิน ไปถึงโรงแรมต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของนักท่องเที่ยวให้มีเวลาในการเที่ยวและสะดวกสบายมายิ่งขึ้น
พวกเขาต่อยอดมาจากธุรกิจเดิมที่เคยทำซึ่งเป็นธุรกิจล็อกเกอร์รับฝากของสำหรับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปตามสถานีรถไฟฟ้า MRT/ Airport link ก่อนจะขยายมาสู่ AIRPORTELs ที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของกระเป๋าเดินทางผ่าน E-mail, Facebook, Line หรือ WeChat ได้ ที่สำคัญไม่ต้องชั่งน้ำหนัก ไม่มีลิมิตขนาดกระเป๋า เหมาราคาเดียวไม่ยุ่งยาก ทั้งยังมีวงเงินชดเชยกว่า 1 แสนบาทหากเกิดความเสียหายขึ้น แม้จะเปิดบริการได้เพียงไม่กี่ปี แต่ AIRPORTELs ก็เริ่มได้รับความไว้วางใจจนมีรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงถึง 8 หลัก และยังตั้งเป้าว่าจะไปให้ถึง 9 หลักในอีก 2 ปีข้างหน้าอีกด้วย
จะเห็นว่าธุรกิจ StartUps ของวัยรุ่น แทบจะเป็นเรื่องของการแข่งขันไอเดีย ใครที่มองเหนช่องว่างของโอกาสและสามารถออกแบบบริการที่เติมเต็มช่องวางเหล่านั้นได้ ก็ย่อมประสบความสำเร็จกันได้ไม่ยาก ชักน่าสนใจแล้วว่าในปีต่อๆ ไปจะมีเด็กคนไหนกลายเป็นเศรษฐีกันขึ้นมาอีก