12 ธันวาคม 2560

อัพเดทก่อนใคร 10 เทรนด์เทคแห่งปี 2018 เพื่อธุรกิจคุณ Move แรง


Highlight

  • 10 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งปี 2018 ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจ เช่น การนำ เข้าไปใช้ร่วมกับระบบหรือ IoT มากขึ้น ระบบการถ่ายโอนข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นและยังประหยัดพื้นที่เช่นเดียวกับระบบ Cloud

 

เป็นประจำที่ในช่วงท้ายปี Gartner บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกก็จะรวบรวมเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าสนใจในปีถัดไป โดยคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามภายใน 5 ปี ให้พวกเราได้ติดตามและก้าวตามให้ทัน

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารอยู่ตลอดก็คงพอรู้ว่าเทรนด์ในปีนี้นั้นหนีไม่พ้นเรื่อง AI. (Artificial Intelligence—ปัญญาประดิษฐ์) ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับทุกวงการอาชีพ ทั้งในบทบาทผู้ช่วยที่ทำให้มนุษย์ทำงานง่ายขึ้น และในบทบาทตัวแทนซึ่งหมายถึงการเข้ามาเป็นคู่แข่งกับมนุษย์

 

10 เทรนด์เทคสุดล้ำแห่งปี 2018

  1. AI Foundation

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า AI. นั้นสามารถเป็นได้ทั้งผู้ช่วยให้มนุษย์ทำงานง่ายขึ้น เช่นการเป็นผู้ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากๆ และสรุปออกมาให้มนุษย์ได้ตัดสินใจได้ง่ายและแม่นยำ ซึ่งทำให้โมเดลธุรกิจและระบบการทำงานในช่วงปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกัน AI. เองก็ไม่ได้หยุดเรียนรู้เหมือนโปรแกรมทั่วๆ ไป มันสามารถฉลาดและเติบโตได้เรื่อยๆ จากประสบการณ์ทำงาน ซึ่งทำให้การลงทุนเพื่อปรับปรุงและพัฒนา AI. เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกแล้วในการทำธุรกิจยุคต่อไป ฉะนั้นในช่วงปีถัดจากนี้ เราจะได้เห็นการลงทุนในระบบจัดเก็บ วิเคราะห์ และอัลกอริธึมของ AI. มากขึ้นด้วย

 

  1. Intelligent Apps and Analytics

แอพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด ฉะนั้นหากจะมีบริษัทฝัง AI. เข้าไปในแอพลิเคชันเพื่อวิเคราะห์ หา Insight ของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ และใช้ AI. ที่ผ่านการเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาลตอบสนองหรือสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับผู้บริโภคที่แตกต่างกันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ ยิ่งเมื่อระบบบนสมาร์ทโฟนสามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายขึ้นเช่น ระบบ AR. (Augmented Reality) เทรนด์ในปีหน้าจึงคล้ายๆ กับข้อด้านบนคือ องค์กรจะเริ่มมองหาแอพลิเคชันเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ มากขึ้น

 

  1. Intelligent Things

จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับคำว่า IoT (Internet of Things) ที่หมายถึงวัตถุสิ่งของที่มีวงจรหรือเซนเซอร์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลใดๆ กลับไปสู่เซิร์ฟเวอร์ได้ แต่ต่อไปเราจะได้ยินคำว่า Intelligent Things มากขึ้นแทน ซึ่งเป็นการพัฒนาจาก IoT เดิม เพียงแต่วัตถุหรือสิ่งของนั้นๆ จะสามารถทำงานกึ่งอัตโนมัติได้ และสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมจากการมี AI. คอยเก็บและประมวลผลข้อมูล เช่น หุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่นที่มาพร้อมกับระบบ Computer Vision ที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำความสะอาดบ้านได้โดยไม่ต้องเสียพลังงานในการเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ไม่จำเป็น

 

  1. Digital Twin

วิธีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบัญชีธนาคาร อัตลักษณ์ทางชีวภาพเช่น ใบหน้า ลายนิ้วมือ รวมถึงระบบการจัดการต่างๆ ระดับประเทศที่ต้องใช้บุคลากรในการดูแล และจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นเอกเทศ ไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถนำมาใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นกำลังจะหายไป กลายเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้วนั่นก็คือ การสร้างฐานข้อมูลดิจิตัลซึ่งนอกจากจะแก้ไขเรื่องการจัดเก็บแล้ว ยังสามารถเรียกข้อมูลขึ้นมาใช้สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์แบบ Real-time อีกด้วย ทำให้โลกดิจิตัลคู่ขนาน เป็นโลกที่เราเห็นภาพและจับต้องได้มากขึ้น ทำให้องค์กรหรือภาครัฐสามารถประหยัดเม็ดเงินในการบำรุงรักษาระบบหรือลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานอย่างเห็นได้ชัด

 

  1. Cloud to the Edge

หลายๆ บริษัทน่าจะได้ใช้บริการ Cloud เพื่อจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายกับการซื้อพื้นที่เซอร์เวอร์แบบสมัยก่อน เพียงแต่ระบบ Cloud นั้นอาจจะมีเรื่องความเร็วโอนถ่ายข้อมูลเป็นจุดด้อย จึงทำให้ Edge computing เข้ามาเติมเต็ม ซึ่งเหมาะกับบริษัทที่ต้องการใช้งาน IoT โดย Cloud จะเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้จากส่วนกลาง และส่งคำสั่งต่อไปยัง Edge computing ที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ อีกที ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ประมวลผลและทำงานได้เร็วกว่าเดิม

 

  1. Conversational Platforms

นี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารระหว่างคนกับโปรแกรมจะเปลี่ยนไป โดยแพลตฟอร์มที่ว่านี้จะทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารและบอกความต้องการต่อโปรแกรมได้ โดยที่แพลต์ฟอร์มจะแปลภาษาคนให้เป็นภาษาดิจิตัลเอง ซึ่งจากการคาดการณ์เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า Conversational Platforms จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างแรกๆ ในดีไซน์ User interface และเชื่อว่าจะทำให้เราได้เห็นดีไซน์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น เพราะดีไซเนอร์สามารถออกแบบและสร้างโมเดลเองได้เลย

 

  1. Immersive Experience

หลังจากที่เรามี VR. (Virtual Reality) ที่ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับสวมบทบาทในโลกสมมติ AR. (Augmented Reality) ที่ทำให้โลกในแบบเดิมๆ มีลูกเล่นและเวทย์มนต์ ต่อไปในอีกไม่นานเราก็จะมี MR. หรือ Mixed Reality ที่จะผสมผสานทั้งสองอย่างแรกให้กลายเป็นประสบการณ์ความบันเทิงในรูปแบบใหม่ ซึ่งน่าสนใจว่าหากนำมารวมกับ Conversational Platforms และ IoT แล้วก็น่าจะทำให้เทคโนโลยีในยุคต่อไปมีคุณสมบัติล่องหนและแฝงตัวอยู่ทุกพื้นที่บนโลกนี้

 

  1. Blockchain

เป็นกระแสโลกมาได้สักพัก แม้จะยังไม่ได้แพร่หลายในวงกว้าง แต่ก็มีธุรกิจรายใหญ่ๆ เข้ามาคลุกวงในกับระบบเงินรูปแบบนี้ แม้จะต้องแลกมากับความปลอดภัยที่ยังไม่เข้มแข็งนัก แต่ข้อดีของ Blockchain คือการเป็นหุ้นดิจิตัลที่แยกออกมาเป็นระบบเอกเทศ ฉะนั้นเรื่องการผันผวนจึงมีน้อย ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักพักและเมื่อมีธุรกิจรายใหญ่ๆ เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ Blockchain ก็น่าจะมีมูลค่าสูงและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกได้มากขึ้นตามไป จนกลายเป็นเทรนด์สินทรัพย์ที่จับต้องได้

 

  1. Event Driven

จริงๆ แล้วเป็นศัพท์ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม หมายถึงการเขียนคำสั่งโปรแกรมในลักษณะที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ นั้น โปรแกรมจะต้องจัดการกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร ซึ่งแปลว่าผู้เขียนโปรแกรมก็ต้องคิดคำนวนว่ามีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ถึงจะสามารถเขียนโปรแกรมได้ ซึ่งคำนี้ก็ได้กลายมาเป็นเทรนด์รูปแบบการทำงานในอนาคต โดยเน้นกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนหรือโต้ตอบกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ทันท่วงที ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ มีข้อมูลแบบ Real-time และในทางกลับกันก็อาจทำให้เกิดธุรกิจที่เข้ามาช่วยดูแลกระบวนการนี้แทน

 

  1. Continuous Adaptive Risk and Trust

จากทั้ง 9 สิ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปถึงจุดที่ข้อมูลสามารถถ่ายโอนได้ภายในไม่กี่วินาที แล้วปัจจุบันข้อมูลที่อยู่บนระบบดิจิตัลก็แทบจะเป็นทั้งหมดของชีวิตคนเราไปหมด ทำให้การโจรกรรมและการโจมตีจากผู้ไม่หวังดีก็ย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้น โดย Continuous Adaptive Risk and Trust Assessment (CARTA) เป็นมาตรฐานความปลอดที่ให้ทีม Security เข้าร่วมในทีมพัฒนาโปรแกรมด้วย

 

ทั้งหมดนี้น่าจะพอทำให้เห็นภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าและอีกหลายปีถัดไป แม้ว่าจะมีหลายๆ ความเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อเทคโนโลยีสองอย่างขึ้นไปสามารถรวมตัวและเติมเต็มกันได้เมื่อไหร่ ชีวิตของมนุษย์และธุรกิจบนโลกก็อาจเปลี่ยนไปเมื่อนั้น

Share :